วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ซอด้วง



ซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีประเภทใช้คันชักสี มี 2 สาย สันนิษฐานว่าพัฒนามาจากซอของจีน และจากหลักฐานข้อความในกฎมณเฑียรบาลรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาปรากฏ ชัดเจนว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวบ้านเล่นซอกันแล้วแต่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นซออะไร และการเล่นก็เล่นในลักษณะต่างคนต่างเมากกว่าการบรรเลงรวมวงกันอย่างมั่นคงเหมือนในปัจจุบัน เพิ่งจะมีการจัดประสมวงอย่างเป็นระเบียบแบบแผนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีการเล่นประสมวงอยู่ในวงเครื่องสายและมโหรี

รูปร่างและส่วนประกอบของซอด้วง
คำว่า “ด้วง” เป็นชื่อเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายคันธนู ปลายด้านหนึ่งเสียบไว้กับกระบอกไม้ไผ่มีเชือกโยงจากปลายคันธนู ปลายเชือกอีกด้านทำเป็นบ่วงรอไว้ที่ปากกระบอก เมื่อสัตว์มากินอาหารในกระบอกสลักจะหลุดคันธนูที่โก่งจะดึงบ่วงรัดตัวสัตว์ไว้ เนื่องจากซอด้วงมีรูปร่างคล้ายด้วงดักสัตว์ จึงเรียกว่า “ซอด้วง”

ส่วนประกอบต่าง ๆ ของซอด้วง
1) คันซอ หรือ คันทวน คือคันส่วนที่กลึงกลมตั้งแต่ใต้บัวลงมาถึงกระบอกซอ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่นิยมกันมากคือไม้ชิงชัน
2) ทวนบน คือส่วนบนของคันทวนตั้งแต่กลีบจำปา(ส่วนที่เหลาเป็นแปดเหลี่ยมเหนือรัดอก)ขึ้นไปจนสุด
3) โขน ส่วนที่อยู่ด้านบนสุดของทวนบน ซึ่งมีลักษณะคล้ายโขนเรือ
4) ลูกบิด ส่วนที่เป็นแกนเสียบในแนวขวางของคันซอเพื่อใช้พันสายซอและบิดเร่งเสียง
5) รัดอก เป็นเส้นเชือกที่พันรัดสายทั้งสอง อยู่ห่างจากใต้บัวลงมาประมาณ 5 ซ.ม.
6) กระบอก หรือ กะโหลก คือส่วนที่เป็นกระบอกเสียง หรือกล่องเสียง ทำด้วยไม้ชนิดเดียวกับคันทวน กลึงให้กลม ด้านในกลวง ด้านหนึ่งขึงด้วยหนังงูเหลือม ใกล้ ๆ กันนี้เจาะรูไว้สำหรับเสียบปลายก้านคันทวน
7) หน้าซอ ส่วนที่เป็นหนังงูเหลือมขึงหน้าของกระบอก เพื่อเป็นตัวถ่ายทอดความสั่นสะเทือน จากสายซอผ่านมาทางหย่อง หน้าซอเป็นส่วนสำคัญในการเกิดคุณภาพของเสียงซอ
8) หย่อง คือไม้เล็ก ๆ ที่วางบนหน้าซอ เพื่อรองรับสายซอทั้งสอง ทำหน้าที่เป็นเป็นตัวกลางถ่าย ทอดความสั่นสะเทือนจากสายซอสู่หน้าซอ
9) ก้านคันชัก ทำด้วยคันไม้ชนิดเดียวกับคันซอ กลึงให้เป็นคันยาวประมาณ 73 ซ.ม. เป็นส่วน สำคัญที่ประกอบกับหางม้าโดยใช้ขึงหางม้าให้ตึง รวมเรียกว่า “คันชัก”
10) หางม้า นำมาจากหางม้าแท้ ๆ นิยมใช้หางม้าสีขาว ปัจจุบันหางม้ามีราคาแพงช่างทำซอบางท่านจึงใช้เอ็นไนล่อนแทนสำหรับใช้กับซอราคาถูก คุณภาพจึงสู้หางม้าแท้ไม่ได้ หางม้าเมื่อขึงเข้ากับก้านคันชัก เรียกว่า ”คันชัก” กลายเป็นส่วนสำคัญที่ใช้สีให้สายซอสั่นสะเทือน โดยมียางสนเป็นตัวทำให้เกิดความ ฝืด
11) เม็ดมะยม เป็นหมุดที่ใช้ยึดตรึงหางม้าไว้กับก้านคันชักให้ตึง เดิมนิยมทำด้วยงาช้าง ปัจจุบันทำด้วยไม้ หรือโลหะ
12) สายซอ ทำด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียวขึงผ่านจากหน้าซอ ขึ้นไปพันที่ปลายลูกบิด มี 2
สายคือ สายเอก (เส้นเล็ก) และสายทุ้ม (เส้นใหญ่)